ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มขยับตัวสำหรับการเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ทยอยดำเนินการตามทฤษฎีแตกแบงก์พันไว้แต่เนิ่นๆ เพราะขึ้นชื่อว่าการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน
ยกตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทย มีการแยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม “แคร์” เป็นการรวมตัวกันของขุนพลนายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” นำโดย “ภูมิธรรม เวชยชัย”
ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ลาออกจากการเป็นสมาชิก รปช.เรียบร้อย และบอกชัดเจนว่าขอแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มการเมือง
กลุ่มเหล่านี้แน่นอนว่าในอนาคตพัฒนาเป็นพรรคการเมือง
ทว่า ก่อนที่จะไปถึงการเลือกตั้งระดับประเทศ ต้องวัดกระแสในแต่ละพื้นที่เสียก่อน
สิ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อนคะแนนนิยมของแต่ละพรรคการเมืองได้ดีคือ “การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น” ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ต้องส่งคนของตนเองลงสนาม
เมื่อต้นปีที่ผ่านหลายคนอยากทราบว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จนถึงวันนี้สัญญาชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเกิดขึ้นแน่ช่วงปลายปี ระหว่างเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค.
อันเนื่องมาจากมีความเคลื่อนไหวหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค. มีการตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น
นอกจากนี้ จากเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบปี 64 พบว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของบ 1.7 พันล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นของบ 2.2 แสนล้านบาท
ที่สำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอของบถึง 9.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมเมื่อปี 63 ตั้งไว้ 5.4 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าปี 64 อปท.ของบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3.6 หมื่นล้านบาท
ฉะนั้นจึงได้เห็นพรรคการเมืองเริ่มกลับฟิตอีกครั้ง ลงพื้นที่พบประชาชน เวลาเดียวกันก็สร้างผลงานและโหมประชาสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดนเงา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ครอบอยู่อย่างสลัดไม่ออก ความหวังที่จะกลับมายืนหนึ่งก็คงลำบาก เพราะงานที่ทำโดนเคลมเป็นของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไปเสียหมด
ยกเว้นแต่ว่าจะหาหนทางทำให้พรรคตนเองเป็นดาวฤกษ์ มีแสงสว่างในตัวเอง สร้างผลงานจากอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในมืออย่างไม่ยืมจมูกรัฐบาลมาดม
พูดง่ายๆ ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะถูกเบรก ถูกสกัด ว่าผลงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ตีกินพรรคเดียวไม่ได้
ในเวลาที่เหลือจากนี้ต้องหันกลับไปใส่ใจ ส.ส.ในพรรค สนับสนุน ผลักดันผลงานของ ส.ส. เพราะหาก ส.ส.มีผลงาน นั่นเท่ากับพรรคก็มีผลงานไปด้วย
การที่คนรอบตัวของหัวหน้าพรรคยกหูโทร.หา ส.ส.ในพรรคโดยไม่เลือกกลุ่ม ก๊ก มาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มความจริงใจและใส่ใจกันและกันให้มากกว่านี้ อย่าปล่อยปละละเลยเหมือนที่ผ่านๆ มา
ด้วยวิธีการแบบนี้ยังจะเป็นการตรึงใจให้อดีต ส.ส. ส.ส.ปัจจุบัน ไม่ปันใจคิดย้ายพรรคด้วย อย่าทำให้ ส.ส.คิดว่าเขาสู้เพียงลำพังโดยที่ผู้บริหารของพรรคไม่สนใจ
กลับมาที่การเลือกตั้งในเมืองสำคัญๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และพัทยา แว่วว่าจะอยู่ในลำดับท้ายๆ ขยักไว้เป็นช็อตท้ายสุด ซึ่งไม่ใช่ปลายปีนี้และต้นปีหน้าอย่างแน่นอน
ส่วนกระแสการเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ สถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือหน้าตาของเสนาบดีในรัฐบาลรอบใหม่ที่กำลังจะมีการปรับ ครม.จะเป็นอย่างไร ทำงานได้เรื่อง เข้าตาของชาวบ้านหรือไม่
ถ้าประชาชนพอใจ รัฐบาลก็เดินต่อไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าอะไรๆ กลับตาลปัตร เก้าอี้รัฐมนตรีมีไว้เพียงเป็นสมบัติผลัดกันชม มีไว้เพื่อต่างตอบแทน ได้คนขี้เท่อ ไร้วิสัยทัศน์มาบริหารบ้านเมืองจนทำให้ชาวบ้านอดอยากปากแห้ง ใช้ชีวิตประจำวันอย่างทุลักทุเล
หรือกลไกตรวจสอบทั้งหลายล้มเหลว ไร้ซึ่งธรรมาภิบาล ความถูกต้อง เป็นกลาง มีหลักฐานมัดแน่ว่าโกง แต่กลับบอกไม่โกง ค้านสายตาชาวโลก
หรือพยายามปลุกผีนิรโทษกรรมสุดท้ายขึ้นมาอีกเพื่อหวังประนีประนอม อาจทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อลำบาก
ข่าวลือบางๆ ที่ลอยเข้าหูมาว่าจะมีการยุบสภาในช่วงปลายปีถึงต้นปีที่จะถึงนี้ อาจจะเป็นความจริงขึ้นมาได้
แต่ไม่รับประกันว่าเมื่อยุบสภาแล้วจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลปรองดองแห่งชาติกันแน่.
June 27, 2020 at 12:09AM
https://ift.tt/2YDtWaA
เลือกตั้งท้องถิ่น ถึงเลือกตั้งใหญ่ - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2zlCrwM
Home To Blog
No comments:
Post a Comment