พลิกหน้าประวัติศาสตร์เมื่อราว 40 กว่าปีก่อน ที่มีข้อสังเกตว่า การชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือไม่ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯ และขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด ในนาม “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)”
และมีการขยายวงสู่ “นักเรียนมัธยม” ในนาม “ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย” ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาระบอบเผด็จการ “ทีมข่าวสกู๊ปหน้า 1” ได้พูดคุยกับ จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ “พี่จี๊ด” นักเขียน กวีซีไรต์ อดีตผู้นํานักศึกษา 14 ตุลาฯ ปี 16 เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า...
สมัยนั้นระบบการสื่อสาร หรือโซเชียล ยังไม่ดีพร้อมเท่าทุกวันนี้การชุมนุมเรียกร้องแต่ละครั้ง เริ่มจากจับกลุ่มในระดับ “ชมรมในรั้วมหาวิทยาลัย” ที่มักมีข่าวทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ และในช่วงนั้นยังมีกระแส “เยาวชน” ลุกขึ้นสู้เผด็จการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศอีกด้วย
ทำให้ “นักศึกษาไทย” ก็ออกมาจัดกิจกรรมเช่นกัน ที่มีเพียงหนังสือพิมพ์หรือวิทยุ เป็นสื่อเผยแพร่รายงานข่าว เมื่อเปิดประเด็น “โดนใจสังคม” ก็ขยายวงขึ้นเรื่อยๆจนเป็นการชุมนุมใหญ่
เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีจุดเริ่มจาก “บุคคลในเครื่องแบบ” นําเฮลิคอปเตอร์ไปล่าสัตว์ ในเขตป่าสงวนทุ่งใหญ่นเรศวรแล้ว “ฮ.ตก” พบหลักฐานซากสัตว์ป่ามากมาย “ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ” ออกมาเรียกร้องให้ดําเนินคดีตามกฎหมาย ส่วน “ประชาชน” ก็มีเรื่องไม่พอใจ “รัฐ” ในด้านอื่นอยู่แล้ว
โดยเฉพาะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าแรงต่ำ ข้าวแพง หรือ การจํากัดเสรีภาพด้านต่างๆ ทำให้เยาวชน นักศึกษา มองว่าน่าจะเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้ ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ในการเดินแจกใบปลิว จนถูกจับกุมด้วยข้อหา “ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน”
กลายเป็นชนวนชุมนุม ใน ม.ธรรมศาสตร์ ลุกลามเดินขบวนไปตามถนนราชดําเนิน จนเกิดเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดํารงตําแหน่งเลขานุการ ศนท.
คราวนั้นยังจําได้ว่า...“นิสิต นักศึกษา และประชาชน” รวมทิศทางจุดมุ่งหมายในการต่อสู้เป็นหนึ่งเดียวในการ “ต่อต้านเผด็จการและอํานาจนิยม” ด้วยการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และคืนอํานาจให้ประชาชนด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้คนต่างทยอยมาร่วมชุมนุมนี้ “ไร้ข้อกังขากับการนําของนักศึกษา”
ทุกคนต่างออกมาชุมนุมด้วย “พลังอันบริสุทธิ์” ที่ปราศจากคนครอบงำคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ถ้าจะมี “กุนซือ” ก็คือเหล่าอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงในสถาบันเท่านั้น
ประเด็นน่าสนใจ...“ชุมนุม 14 ตุลาฯ” มีข้อแตกต่างคล้ายคลึงในการเคลื่อนไหวของเยาวชนยุคนี้ ก็คือ “ความเป็นพลังบริสุทธิ์” ที่จุดติดในลักษณะเดียวกัน แต่ข้อแตกต่างที่ชัดเจน คือ “วิธีการสื่อสาร” ในยุคดิจิทัลที่ฉับไวเห็นผลทันใจ ที่อาจก่อ “ความสับสนรวนเร” ในการแสดงออกเกินขีดขั้นที่คนอื่นรับได้ ทำให้ควบคุมกันเองไม่อยู่
และยังเป็นการ “เผยจุดอ่อน” ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโจมตีได้ง่าย เพราะ “สมัย 14 ตุลาฯ” มีรูปแบบการสื่อสารทางเดียว คือ ผู้รับสื่อไม่มีเวทีส่วนตัวให้แสดงทัศนคติเผยแพร่ความคิดเห็นเช่นสมัยนี้ ดังนั้น การจะเรียกร้องต้องแจกใบปลิวออกแถลงการณ์ หรือให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะ “สื่อสิ่งพิมพ์” ที่มีบทบาทตรงนี้มาก
เพราะยุคนั้น “สื่อวิทยุ โทรทัศน์” ส่วนใหญ่มีภาครัฐครอบงําอยู่
การชุมนุมครานั้น...“คนมาร้อยพ่อพันแม่” ใช่ว่า “แกนนํา” จะเอาอยู่หมดทุกเรื่อง แต่ด้วยข้อจํากัดการสื่อสารทางสังคม ทําให้ประเด็นไม่แตกกระจายไปเรื่องอื่น ส่วนการขึ้นเวทีปราศรัยก็ต้องตรงเข้าประเด็นเป็นระบบ พร้อมเหตุผลที่ทําให้ผู้คนมาสนับสนุน ไม่มีเวลาพอสําหรับการ “วิพากษ์วิจารณ์” เรื่องส่วนตัวคนอื่นที่ไม่ใช่ปัญหาหลัก
ทำให้ไม่ได้สร้างศัตรูโดยไม่จําเป็น...และไม่ถูกลากไปรุมทึ้ง “ทัวร์ลงในสื่อโซเชียล” เพราะต้องเสียเวลา หรือหลงทางตามแก้ข่าวลือข่าวลวงในเน็ตอย่างสมัยนี้ ที่มี “สื่อสารโซเชียลฯ” เปิดกว้างให้สามารถประกาศตัวตน แสดงจุดยืน ทำให้มีข่าวจริง ข่าวปลอม มากมายสารพัด บุคคลใดจะหยิบยกอะไรมาสนับสนุนความคิดก็ได้
ในหลายเรื่องยัง “แปลงสาร” และ “บูลลี่” คุกคามผู้อื่นในระดับส่วนตัวด้วย กลายเป็น “อุตลุดอลเวงหลังเวที” อีกทั้ง “สื่อโซเชียลฯ” ยังทําให้เห็นปัญหาในหมู่ประชาชนชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่องช่องว่างระหว่างรุ่นวัย ความคิดอนุรักษนิยม และช่องวางแนวคิดประเภท “ให้มันจบลงที่รุ่นเรา” ทําให้พลังไม่ค่อยมีการจัดตั้งอยู่แล้วสึกกร่อนลงได้
ประการต่อมา “ความรุนแรง” บางครั้งก็เกิดจาก “ผู้ใหญ่” ก่อขึ้นแบบไม่รู้ตัวในนามของความหวังดี เราต้องยอมรับว่า “เยาวชน” ยิ่งกดก็ยิ่งต้าน ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ โดยเฉพาะ “ห้ามอุดมการณ์ทางความคิด” ดังนั้น ควรต้องใช้วิธีการให้เกียรติเสมือนผู้ใหญ่คุยกัน ลดความขัดแย้งเพื่อหาทางร่วมกัน
อย่าคิดแค่ว่า “เด็กสมัยนี้...เป็นอย่างนั้นอย่างนี้” แบบที่ชอบพูดกันในแง่ลบ เพราะจะยิ่งขยายช่องว่างและความขัดแย้ง อันที่จริงแล้วไม่ว่ายุคใด “นักเรียน นักศึกษา” ก็อยู่ในวัยที่ความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง และได้เรียนรู้ที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ เพราะ “เด็ก” รุ่นนี้เติบโตในสังคม และการเมืองที่สับสนมืดมนยาวนาน
ซ้ำร้ายยังต้องโตมาในยุควิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า ขยะมลพิษ โควิด-19 ต้องยอมรับว่า ผลนี้ก็เกิดจากการกระทําของคนรุ่นก่อนนั่นเอง ทำให้เด็กเติบโตมาโดยไม่มีความทรงจําดีๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองและสังคมให้ “คิดบวก โลกสวย” อย่างที่ผู้ใหญ่คาดหวังและพยายามคาดคั้นนี้
มองแง่ดี...“เยาวชนวัยเรียน” ออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างพร้อมเพรียงขนาดนี้ แสดงว่า พวกเขาสนใจอนาคตของสังคมส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว “คนรุ่นใหม่” อาจตีความคําว่า “สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย” ในมุมมอง และความคิดที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน
ทั้งยังแสดงออกด้วยถ้อยคําภาษา หรือสัญลักษณ์ที่รุ่นก่อนอาจไม่เข้าใจ กระทั่งไม่ชอบใจ แต่เมื่อกาลเวลาถึงครา “ผลัดรุ่น” อนาคตก็ตกเป็นของคนรุ่นใหม่อยู่ดี ดังนั้น “คนรุ่นก่อน” จึงไม่ควรเป็นฝ่ายกําหนดทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียว “ฝ่ายปกครอง” ไม่ควรอ้างเหตุผล ในการปิดกั้นปกป้องตัวเอง
ส่วน “ผู้ปกครอง” ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของเด็กก่อนจะตัดสินว่า ความพอดีพอควรสําหรับ “พวกเขา” อยู่ตรงจุดไหน ในเส้นทางความขัดแย้งนี้ยังมีหนทางขับเคลื่อนสังคมเดินหน้าด้วยกันได้ หาก “ลดทิฐิ” หันหน้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เข้าใจกันมากขึ้น
โดยใช้วิจารณญาณว่า สิ่งใด “จําเป็น หรือไม่จําเป็น” และ “สําคัญหรือไม่สําคัญ” ที่จะหยิบยกนำมาเป็นปฏิปักษ์กล่าวโทษกัน.
August 26, 2020 at 05:03AM
https://ift.tt/31ttNYN
ประชาธิปไตยที่แท้ 14 ตุลาคม 2516 ถึงวันนี้ - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2zlCrwM
Home To Blog
No comments:
Post a Comment